ประเภทของหนี้สาธารณะ
หนี้สาธารณะ
(Public Debt) ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินจากรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามเกณฑ์ในการจำแนกประเภท เช่น การแบ่งตามแหล่งที่มาของเงินกู้ การแบ่งตามระยะเวลาของการกู้ การแบ่งตามลักษณะหนี้ การแบ่งตามวิธีการก่อหนี้ เป็นต้น
การแบ่งหนี้สาธารณะตามแหล่งที่มาของเงินกู้
มี 2 ประเภทคือ
หนี้ภายในประเทศ (Internal Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลกู้เงินมาจากแหล่งเงินต่างๆ ภายในประเทศ ได้แก่ ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง และสถาบันการเงินอื่น เช่น บริษัทประกันภัย ธนาคารออมสิน เป็นต้น ซึ่งเงินที่กู้ยืมนั้นอาจเป็นเงินตราของประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งภายในประเทศ ได้แก่ การกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น การกู้จากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น และประชาชนทั่วไป โดยการเสนอขายพันธบัตรและหลักทรัพย์รัฐบาลประเภทอื่นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น
หนี้ภายนอกประเทศ (External Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลกู้เงินมาจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ ซึ่งอาจกู้จากบุคคล หรือรัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น การกู้ยืมจากธนาคารโลก เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างหนี้ภายในประเทศและหนี้ภายนอกประเทศ
เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ การกู้เงินภายในประเทศเมื่อถึงกำหนดชำระเงินก็จะชำระด้วยเงินตราของประเทศนั้น เช่น รัฐบาลไทยชำระหนี้เป็นเงินบาทให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทย เป็นต้น แต่การกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลต้องชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศตามสกุลเงินที่ได้ตกลงกันไว้
การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน
การกู้เงินภายในประเทศ ปริมาณเงินของภาคเอกชนจะลดลงแต่ปริมาณเงินของภาครัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และเมื่อรัฐบาลชำระคืนเงินให้ภาคเอกชน ปริมาณเงินจะไม่เปลี่ยนแปลง หากเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ ประเทศจะมีเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้นและอำนาจซื้อของประเทศจะสูงขึ้น
การเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน
การกู้เงินภายในประเทศ รัฐบาลไม่ต้องเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 100 ล้านบาท เมื่อถึงกำหนดชำระคืน 100 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ รัฐบาลจะต้องคาดคะเนด้วยว่าในอนาคตอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะเป็นอย่างไร เช่น สมมติรัฐบาลยืมเงินจากธนาคารโลก 50 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน 27 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จะเป็นเงิน 1,350 ล้านบาท เมื่อหนี้ครบกำหนดชำระ อัตราแลกเปลี่ยนเป็น 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องชำระหนี้ 1,500 ล้านบาทรวมทั้งดอกเบี้ย เป็นต้น
เงื่อนไขข้อผูกพันในการกู้
การกู้เงินภายในประเทศมักไม่มีข้อผูกพันหรือเงื่อนไขที่จะบังคับให้รัฐบาลต้องปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศมักมีเงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติ เช่น มีข้อตกลงว่ารัฐบาลจะต้องซื้อสินค้าหรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศผู้ให้กู้ ซึ่งเป็นผลให้ต้องซื้อของในราคาแพง เป็นต้น หรือกรณีกู้เงินจากธนาคารโลก ธนาคารโลกมักจะเข้าควบคุมการดำเนินงานตามโครงการเงินกู้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจ่ายเงินตามโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น